วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

บทสรุป

       สื่อกิจกรรมเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมกิจกรรม   เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง สื่อกิจกรรมมีคุณค่ามากมายในด้านการส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกและสามารถทำร่วมกับผู้อื่นได้   ผู้เรียนจะค้นพบความรู้จากการปฏิบัติ  นอกจากนี้สื่อกิจกรรมส่วนใหญ่จะให้ความเพลิดเพลินสนุกสนาน  สื่อกิจกรรมที่ดีควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกำหนดขอบข่ายเนื้อหา   วัตถุประสงค์  เข้าร่วมกิจกรรมและประเมินผล   ควรเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านความรู้    เจตคติ  และทักษะอย่างบูรณาการ  ทั้งนี้ต้องตรงกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายของบทเรียน   ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์   อยู่ในความสนใจและมีความยากง่ายเหมาะสมกับผู้เรียน  สื่อกิจกรรมที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนมีหลายประเภท เช่น  การสาธิต   การจัดนิทรรศการ  นาฏการ   การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา   สถานการณ์จำลอง และการศึกษานอกสถานที่ เป็นต้น

การศึกษานอกสถานที่ (Field Trip)

      การศึกษานอกสถานที่หรือทัศนศึกษา หมายถึง กิจกรรมที่พาผู้เรียนออกไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนที่สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การไปทัศนศึกษาต่างจากการทัศนาจรโดยทั่ว ๆ ตรงที่ การทัศนาจรมุ่งความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นสำคัญ ส่วนการศึกษานอกสถานที่เน้นการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนและการดำเนินการอย่างมีขั้นตอนเป็นสำคัญ
1. คุณค่าของการศึกษานอกสถานที่
1. ช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรง
2. ช่วยให้บทเรียนมีความหมายยิ่งขึ้น
3. ช่วยให้ฝึกฝนระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา และมนุษยสัมพันธ์
4. ช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั้งก่อนและหลังการทำกิจกรรมทัศนศึกษา
5. ช่วยให้ผู้เรียนได้ร่วมกิจกรรมการเรียนอย่างเพลิดเพลิน
6. ช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปในลักษณะบูรณาการ
2.ขั้นตอนในการศึกษานอกสถานที่
  2.1 ขั้นการเตรียมหรือการวางแผน
 การเตรียมสำหรับครู
   - กำหนดวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับบทเรียน
   - เลือกสถานที่ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์
  - หาข้อมูลเกี่ยวกับกับสถานที่ที่จะไปศึกษา  เพื่อทราบปัญหาต่างๆ
  - ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสถานที่กับสถานที่ที่จะไปชมเพื่อแนวทางในการศึกษา
กาเตรียมสำหรับผู้เรียน
  - การตั้งวัตถุประสงค์ว่าต้องการทราบอะไร จากการไปทัศนศึกษา
  - ให้ผู้เรียนได้รับความรู้จากกิจกรรมอย่างเต็มที่
  - แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เช่น บันทึกภาพ ซักถาม กล่าวขอบคุณ
  - ตกลงการแต่งกาย มารยาท และการวางตัวขณะฟังบรรยาย

สถานการณ์จำลอง (Stimulation)

        สถานการณ์จำลอง เป็นการจัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริงให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกหัดแก้ปัญหาและตัดสินใจจากสภาพการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น การจัดสถานการณ์จำลอง เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับคนที่ออกไปเผชิญกับปัญหาจริง ๆ เช่น นักเรียนฝึกหัดครู ก่อนที่จะสอนต้องได้รับการฝึกฝนด้านวิชาการสอน วิธีฝึกอย่างหนึ่งที่ได้ผลดีคือ การฝึกจากสถานการณ์จำลองนั่นเอง
      1. ขบวนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จำลอง เมื่อเสนอสถานการณ์จำลองให้กับผู้เรียนแล้ว ครูควรสรุปแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียนแล้วให้นักเรียนเข้าร่วมมีบทบาทในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง แนวทางในการแก้ปัญหาโดยทั่วไปจะประกอบด้วย
1.1 ปัญหาคืออะไร
1.2 สาเหตุของปัญหา
1.3 รวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ
1.4 หาทางเลือกสำหรับการตัดสินใจ (อาจมีหลายทาง)
1.5 ตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาที่มีเหตุผลดีที่สุด
1.6 ลงมือแก้ปัญหาตามวิธีที่เลือก
1.7 ประเมินผลการแก้ปัญหา
1.8 พิจารณาปรับปรุงผลของการแก้ปัญหาเพื่อนำไปใช้ต่อไป
2. การใช้สถานการณ์จำลองในการเรียนการสอน
ลำดับขั้นในการใช้สถานการณ์จำลองในการสอน ครูอาจทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้ คือ
 2.1 ผู้สอนเสนอสถานการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหา
2.2 ผู้เรียนศึกษาปัญหารวบรวมข้อมูลเอเป็นแนวทางตัดสินใจ และแก้ปัญหาตามขั้นตอน จนกระทั่งได้ข้อสรุปการทำงานในขั้นนี้นิยมแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย เพื่อหาแนวทางของแต่ละกลุ่ม
2.3 แต่ละกลุ่มเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตนต่อชั้นเรียน
2.4 ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันประเมินค่าโดยพิจารณาเหตุผลว่าวิธีการใดที่ดี และมีเหตุผลดีที่สุด สำหรับการแก้ปัญหานั้น ๆ

การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา (Community Study)

      การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา หมายถึง การใช้แหล่งวิชาการและสภาพแวดล้อมของชุมชนให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ เพื่อขยายประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นและช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ประสบการณ์ไปใช้แก้ปัญหาในการดำรงชีวิตในโอกาสต่อไปได้อย่างดี
1.ประโยชน์ของการใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา
     1.1 ทำให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมและรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
     1.2 เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำความรู้จากห้องเรียนไปใช้จริง ๆ กับการเชื่อมโยงสภาพการณ์ในห้องเรียนกับสภาพความเป็นจริง
     1.3 แหล่งวิชาการในชุมชน ขยายความรู้เพิ่มเติมจากที่ครูสอนในหลักสูตรให้สมบูรณ์ขึ้นช่วยให้นักเรียนพบเห็นสิ่งที่เป็นจริง
     1.4 แหล่งวิชาการในชุมชนมีมากมายอยู่แล้ว ทั้งสถานที่และบุคคล ถ้าครูเลือก และนำมาใช้ให้เหมาะสมก็จะได้ผลคุ้มค่า เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่เสียเลย
     1.5 เปลี่ยนบรรยากาศในการเรียน ให้ผู้เรียนได้พบสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ เร้าความสนใจและเพิ่มพูนความเข้าใจ
1.6 ฝึกนิสัยช่างซักถาม และสังเกตพิจารณา
1.7 ฝึกการทำงานร่วมกัน ฝึกความรับผิดชอบ มนุษยสัมพันธ์ ระเบียบวินัย และการตรงต่อเวลา
1.8 เปิดโอกาสให้นักเรียนใช้ทักษะด้านการพูดภาษา การเขียน การคิดคำนวณ ศิลปะ
1.9 แก้ปัญหาครูไม่มีความรู้ ความคุ้นเคยกับชุมชน
1.10 มีผลต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทัศนคติผู้เรียน
       1.11 สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษาและชุมชน นับเป็นการประชาสัมพันธ์สถานศึกษาอย่างหนึ่ง
2. แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชน
    แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชนมีหลายประเภท กล่าวโดยสรุปคือ
         2.1 บุคคล ได้แก่ ผู้มีประสบการณ์โดยตรงอยู่ในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น ตำรวจ พ่อค้า นักธุรกิจ เกษตรกร
   2.2 สถานที่ได้แก่ทุ่งนา แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ โรงงาน สถานที่ราชการสโมสรและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ
        2.3 วัสดุอุปกรณ์ในชุมชนที่สามารถนำมาเป็นสื่อการสอน เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ผลผลิตทางการเกษตรและงานศิลปหัตถกรรมในชุมชน
        2.4 กิจกรรมของชุมชน ได้แก่ การละเล่นพื้นบ้าน งานประเพณี และพิธีต่าง ๆ เช่น การบวช แต่งงาน ทอดกฐิน
3. วิธีการใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา
       3.1 การศึกษาภายในบริเวณโรงเรียน เป็นการใช้แหล่งทรัพยากรนอกห้องเรียนที่ทำได้สะดวกที่สุด แหล่งวิชาการอาจเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในบริเวณโรงเรียน เช่น สนามหญ้าต้นไม้ สระน้ำ
       3.2 การศึกษาในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ หมายถึง สถานที่ในชุมชนที่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก การศึกษาแบบนี้ทำได้ง่ายไม่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าสังกัดให้ยุ่งยากวุ่นวาย
      3.3 การเชิญวิทยากรมาบรรยาย หมายถึง การเชิญบุคลากรจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์โดยตรง
      3.4 การทัศนาจรการศึกษาหรือทัศนศึกษา เพื่อการพานักศึกษาออกไปศึกษาหาความรู้จากแหล่งชุมชนอื่นที่ไกลจากที่โรงเรียนตั้งอยู่ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของสถานศึกษาและต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของผู้เรียนก่อนด้วย

นาฏการ (Dramatization)

       นาฏการ หมายถึง การแสดงต่าง ๆ ที่จัดขึ้นสำหรับถ่ายทอดความเข้าใจระหว่างผู้แสดงกับผู้ดูการแสดงนาฏการเป็นการเสนอสิ่งเร้าที่เป็นของจริง หรือเสมือนของจริง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนสนใจ และเอื้อประโยชน์ให้เกิดการเรียนรู้ได้สะดวก นาฏการสามารถจัดลำดับการเสนอเป็นเรื่องราวให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเสมือนว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย
1. คุณค่าของนาฏการ
1.1 ทำให้บทเรียนเป็นจริงเป็นจัง น่าสนใจ เกิดความประทับใจและจดจำได้นาน
1.2 นักเรียนได้ฝึกทักษะทางภาษา
1.3 ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกได้เข้าใจ
1.4 ฝึกความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาร่วมกัน
1.5 สร้างและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เรียนไปในทางที่ดี
1.6 ช่วยระบายความเครียดและสนองความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก
2.ประเภทของนาฏการ
 ประเภทของนาฏการแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
         2.1 ประเภทของนาฏการที่แสดงด้วยคนได้แก่ การแสดงละคร ละครใบ้ หุ่นชีวิต การแสดงกลางแปลง และการแสดงบทบาทสมมุติ
            2.1.1 การแสดงละคร (Play) เป็นการแสดงที่เห็นถึงความเป็นอยู่อุปนิสัยหรือวัฒนธรรมหรือทั้งสามรวมกันในการแสดงละครจะต้องจัดให้ใกล้เคียง กับสถานการณ์จริง ๆ มากที่สุดโดยอาจต้องจัดสภาพแวดล้อม จัดฉากการแต่งกายและส่วนประกอบต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมบทการฝึกซ้อม
            2.1.2 ละครใบ้และหุ่นชีวิต(Pantomime and Tableau) ละครใบ้เป็นการแสดงลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวและสีหน้าให้ผู้ดูเข้าใจ โดยผู้แสดงไม่ต้องใช้คำพูดเลย  การแสดงเช่นนี้ช่วยฝึกพัฒนาการในด้านการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ให้ผู้ดูเข้าใจ
            2.1.3  การแสดงกลางแปลง (Pageant) เป็นการแสดงกลางแจ้ง เพื่อการถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้านตลอดถึงประเพณีหรือพิธีการต่าง ๆ ในท้องถิ่น โดยใช้ผู้แสดงหลายคน
            2.1.4 การแสดงบทบาท (Role Playing) เป็นการแสดงโดยใช้สถานการณ์จริง หรือเลียนแบบสถานการณ์จริงในสภาพที่เป็นปัญหา มาให้ผู้เรียนหาวิธีแก้หรือใช้ความสามารถความคิดในการวินิจฉัย ตัดสินปัญหาในช่วงเวลา 10-15 นาที การแสดงแบบนี้ส่วนมาก ไม่มีการซ้อมหรือเตรียมการล่วงหน้า ผู้แสดงจะใช้ความสามารถและแสดงบทบาทไปอย่างอิสระ
       2.2 ประเภทของนาฏการที่แสดงด้วยหุ่น ได้แก่ หนังตะลุง หุ่นเสียบไม้ หุ่นสวมมือ และหุ่นชักใย
            หุ่น (Puppets) เป็นตัวละครที่ไม่มีชีวิต เคลื่อนไหวด้วยการกระทำของมนุษย์เรา สร้างหุ่นด้วยวัสดุง่าย ๆ เพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวและแนวคิดต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนโดยเฉพาะกับเด็กในวัย 2-6 ปี เด็กในวัยนี้ชอบการเล่น สมมุติ และเรื่องราวที่เป็นจินตนาการ การเคลื่อนไหวของหุ่นจึงสามารถเร้าความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี
ประเภทของหุ่นมีหลายประเภทแตกต่างกันดังนี้
        2.2.1 หุ่นเงา (Shadow Puppet) เป็นหุ่นที่ฉลุจากหนังสัตว์ หรือกระดาษแข็งแล้วใช้ไม้ไผ่ยึดเป็นโครงสำหรับเชิดและบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว เวลาแสดงจะต้องใช้ตัวหุ่นอยู่หลังจอ แล้วใช้แสงส่องให้เกิดเงาบนจอ เช่น หนังตะลุง
         2.2.2 หุ่นเสียบไม้ หรือหุ่นกระบอก (Rod Puppet) เป็นหุ่น 3 มิติที่ใช้แท่งไม้เสียบกับคอหุ่นเพื่อให้ผู้เชิดถือขณะเชิดหุ่นการทำหุ่นชนิดนี้มีตั้งแต่แบบยาก ๆ เช่น กระพริบตา ขยับปากได้จนถึงแบบง่าย ๆ ที่ไม่มีส่วนเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้ เวลาแสดงหุ่นแบบนี้ผู้เชิดหุ่นจะอยู่ตอนล่างด้านหลังของเวที
          2.2.3 หุ่นสวมมือ (Hand Puppet) เป็นหุ่นขนาดเล็กครึ่งตัวมีขนาดพอเหมาะกับขนาดของมือที่เชิดหุ่นหัวหุ่นทำด้วยกระดาษหรือผ้าเป็นหัวคน หรือสัตว์ มีเสื้อต่อที่คอหุ่นใต้ลำตัวและแขนกลวง เพื่อสอดมือเข้าไปเชิดให้เกิดการเคลื่อนไหวเนื่องจากหุ่นมือเป็นหุ่นที่ทำได้ง่าย เชิดง่าย จึงนิยมนำมาใช้ในการเรียนการสอนมากกว่าหุ่นชนิดอื่น   
         2.2.4  หุ่นชัก (Marionette) เป็นหุ่นเต็มตัว ที่ใช้เชือก ด้าย หรือไนล่อนผูกติดกับอวัยวะต่าง ๆ ของหุ่น แล้วแขวนมาจากส่วนบนของเวที ผู้ชักหุ่นจะบังคับเชือกควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นให้ทำกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้คล้ายคนจริง ๆ แต่การบังคับหุ่นทำได้ยากและต้องใช้เวลาฝึกฝนนานจึงไม่ค่อยได้นำมาใช้ในวงการศึกษามากนัก
   คุณค่าของหุ่น
        1. หุ่นใช้แสดงเรื่องราวต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายกว่าการแสดงโดยใช้คนจริง ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
        2. ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างทั่วถึง
        3. พัฒนาทักษะในการเขียน การคิด การแสดงออก การทำงานกลุ่มและช่วยเหลือเด็กขี้อายให้มีความกล้ามากขึ้น
        4. ผู้เรียนทุกคนพอใจและสนใจในการเรียน
  - หลักการใช้หุ่นกับการสอน
        1. เวลาที่ใช้แสดงควรเป็นช่วงสั้น ๆ
        2. พิจารณาว่าได้ประโยชน์คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงเพียงไร เพราะการใช้นาฏการอาจต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเครื่องแต่งกาย และวัสดุต่าง ๆ
       3. พยายามให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงให้มากที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นตัวละครก็ควรให้มีส่วนในการวางแผน ช่วยเหลือการแสดงและประเมินผล
      4. จัดนาฏการให้เหมาะสมกับพื้นฐานความรู้ ความสนใจ และวุฒิภาวะของเด็ก
      5. ควรใช้สื่อการสอนอื่นมาประกอบด้วย
      6. ควรเลือกแสดงในเรื่องที่สามารถทำเรื่องยากให้ง่ายต่อการเข้าใจ เรื่องนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรมต่าง ๆ
     7. จัดนาฏการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน